“ไหว้พระธาตุพนมครบ 7 ครั้ง”…จะได้เป็นลูกพระธาตุ เป็นศิริมงคลแก่ชีวิต
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
“พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม”
พระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์
ผู้ใดได้ไปนมัสการ จะได้รับอานิสงส์มีผู้คนให้ความเคารพนับถือ
พระธาตุพนม (ประจำวันเกิดวันอาทิตย์)
ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารอำเภอธาตุพนมห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร เป็นสถานที่เคารพสักการะทั้งของชาวไทยและชาวลาว ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 1200 – 1400 ตามตานานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะพระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทาการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น“วรมหาวิหาร” กล่าวกันว่า ถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็นลูกพระธาตุ เป็นศิริมงคลแก่ชีวิต
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนชยางกูร บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนมจังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ 4 ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า(เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ 3 เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม
ประวัติ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
ตามตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า ท้าวพญาทั้งห้าผู้เป็นใหญ่ ได้แก่พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหานหลวง พญาคำแดง เจ้าเมืองหนองหานน้อย พญาจุลณีพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนีพรหมทัต พญาอินทรปัตถ์ เจ้าเมืองอินทปัตถนคร และพญานันทเสน เจ้านครศรีโคตรบูรณ์อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุ ได้สร้างอูบมูงขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ ตามพุทธพยากรณ์
โดยก่อสร้างด้วยดินดิบ (อิฐดิบ) ฐานพระธาตุพนมได้ขุดลงไปจนเป็นอูบมุง (อุโมง) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกส่วนหน้าอก เมื่อก่อด้วยดินดิบเสร็จแล้ว จึงได้ก่อไฟเผาพระธาตุเป็นเวลากว่าหลายวัน อิฐจึงได้แห้งสนิทจรดกัน ในพระธาตุพนม บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า
ซึ่งประมาณ พ.ศ. 8 พระอุตรเถระและพระโสณเถระ สมรทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้อัญเชิญมา และพระ มหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง
พ.ศ. 2223-2225 และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน
พ.ศ. 2233 พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) ปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น
พ.ศ. 2483 รัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้น
พ.ศ. 2518 องค์พระธาตุพนมชำรุดล้มลง ทางราชการได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ ให้คงสภาพเดิม
พ.ศ. 2522 การบูรณะโดยภาครัฐและเอกชน
เมื่อปี พ.ศ. 2485 วัดพระธาตุพนมฯ ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร” ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. ด้วยเหตุที่มีฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวันและความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ พระธาตุพนมจึงได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522
นอกจากจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุดั่งเดิมแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้นบรรจุและประดับไว้ในองค์พระธาตุอีกด้วย โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 110 กิโลกรัม
งานนมัสการพระธาตุพนม
ไม่ว่าเวลาจะเนิ่นนานเท่าใด แต่ความเชื่อว่าหากได้นมัสการ และได้ถวายเครื่องสักการะบูชาพระธาตุพนม จะทำให้จิตใจเกิดความสงบเยือกเย็น ถ้ายังไม่บรรลุนิพพานในชาตินี้ เมื่อตายแล้ววิญญาณก็จะได้ไปสู่สวรรค์ เนื่องจากองค์พระธาตุพนมไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี
ที่ผ่านมาจึงได้มีประเพณีนมัสการพระธาตุพนม เพื่อสมโภชองค์พระธาตุพนมปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนไทย-ลาวสองฟากฝั่งโขง ในงานประกอบด้วยพิธีกรรม งานมหรสพสมโภชเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน สำหรับงานนมัสการพระธาตุพนมปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2555 ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จังหวัดนครพนม
โดยในปีนี้จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในวันเปิดงานวันที่ 31 มกราคม 2555 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. จะมีพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากริมแม่น้ำโขงแห่ไปวัดพระธาตุพนม พิธีคารวะองค์พระธาตุพนม ถวายข้าวพืชภาค การแห่กองบุญ (ผ้าป่า) รอบองค์พระธาตุพนมจากนั้นจะนำไปถวายวัด การเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม นอกจากนั้นยังมีการรำบูชาพระธาตุพนม การละเล่นพื้นเมือง การแสดงมหรสพสมโภช การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้านานาชนิด ผู้เข้าร่วมงานหลังนมัสการองค์พระธาตุพนมแล้ว สามารถเที่ยวชมและเลือกซื้อสินค้าได้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
ที่สำคัญหากใครที่เกิดปีวอก หรือเกิดวันอาทิตย์ การได้ไหว้พระธาตุพนมจะยิ่งเป็นสิ่งมงคลแก่ชีวิต มีอานิสงส์ทำให้ผู้คนเคารพนับถือ เนื่องจากพระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำปีของผู้ที่เกิดปีวอก และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์