“นาค” แห่งพระธาตุพนม : จากความเชื่อสู่งานศิลป์ (สยามรัฐ)
ผ่านไปหมาด ๆ กับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายต่อผู้คนในดินแดนลุ่มน้ำโขงกับเรื่องราวของ “บั้งไฟพญานาค” อันมีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาในท้องถิ่นว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น พญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองบาดาลมีนิสัยดุร้าย ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์จึงเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนา คิดจะออกบวชเป็นพระภิกษุ แต่นาคไม่ใช่มนุษย์ไม่สามารถบวชได้ จึงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะนับแต่นั้น
ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนครบ 1 พรรษา และเสด็จกลับโลกมนุษย์ในวัน ขึ้น15 ค่ำ เดือน 11 มนุษย์ก็พากันทำบุญตักบาตร นำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะ ฝ่ายพญานาคจึงพ่นไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา และนี่คือที่มาของ บั้งไฟพญานาค
อย่างที่ทราบกันดีว่า บั้งไฟดังกล่าวมีลักษณะเป็นลูกไฟลอยขึ้นมาเหนือน้ำ โดยจุดที่พบมากที่สุดคือ แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีชาวบ้านมากมายทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวไปรอชมอย่างล้นหลาม
แต่ความจริงแล้ว ยังมีอีกจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสานซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของ “นาค” อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือ “นครพนม”
นครพนม แปลตรงตัวหมายถึง “เมืองแห่งภูเขา” เป็นจังหวัดชายแดน ติดกับแม่น้ำโขง อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของดินแดนอุษาคเนย์ โดยมี “พระธาตุพนม” เป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมือง พระธาตุแห่งนี้มีตำนานที่สัมพันธ์กับนาค คือ “ตำ” เมืองสุวรรณภูมินานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) ซึ่งปรากฏข้อความในตอนต้นว่า
นี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย มี “สุวรรณนาค” เป็นเค้า แลผีเสื้อน้ำ เสื้อบกยักษ์ทั้งมวล
คำว่า “อุรังคธาตุ” หมาย ถึง พระบรมธาตุส่วนพระอุระ หรือ หน้าอกของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปเถระนำมาประดิษฐานไว้ ณ ดอยกัปปนคีรี หรือ ภูกำพร้า อันป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในทุกวันนี้นั่นเอง
ตำนานดังกล่าว มีความสำคัญกับสังคมในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างมาก นักวิชาการหลายท่าน
ตี ความว่าตำนานอุรังคธาตุ ชี้ให้เห็นถึงการอพยพของผู้คน ซึ่งกระจายกันตั้งหลักแหล่งในบริเวณต่างๆ ตั้งแต่ลุ่มน้ำปิงจนถึงลุ่มน้ำโขง รวมทั้งมูล-ชี โดยผูกเป็นเรื่องราวการเดินทางของนาคไปตามที่ต่างๆ
ปัจจุบัน วัดพระธาตุพนม มีการจัดงาน “วันสัตตนาคารำลึก” เพื่อถวายผลบุญแด่พญานาค 7 ตน ที่ปกปักรักษาพระธาตุ ทุกวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ) สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งก็มีผู้คนไปร่วมงานอย่างล้นหลามเหมือนทุกครั้ง
ผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งจังหวัดนครพนมมีความเชื่อเรื่องนาคอย่างลึกซึ้ง แม้แต่การบายศรีสู่ขวัญ ยังมีการจัดพานด้วยใบตองเป็นรูปเศียรนาคอย่างสวยงามประณีต
ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม กรุณาเล่าให้ฟังว่า พานบายศรีที่ทางวัดประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปร่างต่าง ๆ นั้น นอกจากพญานาคแล้วยังมีรูปนกยูง และอื่น ๆ อีกหลายแบบ แต่สำหรับรูปพญานาค จะใช้สำหรับผู้ที่เราให้ความเคารพนับถือ
ดังนั้น ล่าสุด จึงได้เห็นพานบายศรีรูปพญานาคในงานวันเกษียณอายุราชการของผู้อำนวยการ,ครู บาอาจารย์รวมถึงบุคคลากรของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งผู้ปกครองท่านหนึ่งได้เชิญเจ้าอาวาสมาร่วมงาน โดยมีครูใหญ่จากโรงเรียนในจังหวัดนครพนม มาเป็น “หมอขวัญ” ในพิธี
การทำพานบายศรีเป็นรูปทรงต่าง ๆ อย่างอิสระนั้น เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลัง โดยมีการนำความเชื่อในท้องถิ่น อย่างเช่นเรื่องราวของพญานาคเข้ามาประกอบ ถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่แสดงถึงศรัทธาและความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
คนอุษาคเนย์ ผูกพันกับนาคมาเนิ่นนาน และได้ฝังรากลึกลงในวิถีชีวิต ในจิตวิญญาณ ในการดำรงอยู่ของชุมชน เฉกเช่นเรื่องราวของบายศรีรูปพญานาค ณ ดินแดนลุ่มน้ำโขงแห่งนี้
ที่มา kapook.com