พระธาตุพนมบรมเจดีย์ ศรีบรมธาตุแห่งอีสานทิศ
โดย รณธรรม ธาราพันธุ์
อันพระเจดีย์ใหญ่-น้อยซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของเหล่าเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายในสยามนั้นมีจำนวนมากมายหลายแห่งนัก ทั้งที่มาแห่งการสถาปนาก็แปลกต่างกัน ซึ่งโดยมากแล้วย่อมเกี่ยวโยงไปถึงพระมหากษัตริย์และสิ่งลึกลับที่ทรงอำนาจเหนือสามัญชน
พระธาตุพนม เป็นอุทเทสิกเจดีย์สถานอีกแห่งหนึ่งที่ผูกศรัทธาของพี่น้องชาวอีสานกับทั้งประชาชนทั่วประเทศผู้ถือพระพุทธศาสนาไว้ในหัวใจได้แน่นเหนียวนัก ค่าที่เป็น ปฐมแห่งบรมเจดีย์ในสุวรรณภูมิ
ในหนังสือเรียนระบุว่า พระปฐมเจดีย์ เป็นหลักชัยแห่งแรกในประเทศที่ถูกสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการ “เข็นล้อธรรม” ประกาศพระศาสนาที่แรกในแหลมทองนี้ โดยอาศัยเหตุจาก พระโสณะเถระ และ พระอุตตระเถระ เป็นต้นเค้าศรัทธา
นั่นเรื่องของปริยัติ
หากในทางปฏิบัติ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน อ.วังสะพุง จ.เลย ได้กล่าวหนักแน่นเมื่อครั้งไปสักการะพระธาตุพนมว่า พระธาตุพนมนี้เป็นเจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยหรือแคว้นสุวรรณภูมิเรานี่แหละ ยังเมตตาเล่าอีกว่าที่ท่านได้บวชแต่น้อยจนใหญ่และปฏิบัติจน “ข้ามทะเลทุกข์” ได้นี่ก็เพราะ…
“เอาผ้าขาววาหนึ่ง กับเงินบาทหนึ่งมาทานตอนสร้างพระธาตุพนม แล้วอธิษฐานขอให้พ้นทุกข์”
โอ้ ! อานิสงส์หลายแท้
ครูบาอาจารย์จึงสอนนักว่า อย่าประมาทกับความดีที่ทำว่าเพียงน้อยนิดและอย่าประมาทกับความชั่วว่าเล็กน้อยไม่น่าจะให้ผล
น้อย ๆ หลายหนเข้าก็เยอะ
พระธาตุพนม ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 8 โดยพระมหากัสสปะเถรพร้อมทั้งพระอรหันต์ล้วนอีก 500 รูป อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหัวอกหรือ พระอุรังคธาตุ มาจากชมพูทวีป(ประเทศอินเดีย) เพื่อประดิษฐานไว้ยังมงคลปเทสอันปัจจุบันคือพระธาตุพนม
เนื่องจากพระมหากัสสปะเถรเป็นพระอรหันตเจ้าที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องเป็นยิ่งในทุกด้านทุกทาง กระทั่งพระองค์ทรงแลกผ้าสังฆาฏิกับพระมหากัสสปะและตรัสเรียกเสมอว่า
“กัสสปะผู้เป็นบุตรของเรา”
ครั้งพระศาสดาเสด็จสู่มหาปรินิพพาน พระสาวกทั้งหลายและกษัตริย์ทุกเมืองไม่อาจจุดไฟถวายพระเพลิงแก่พระบรมศพได้ กระทั่งพระมหากัสสปะธุดงค์ออกจากป่ามาถึง ครั้นก้มลงกราบพระสรีระที่ปลายพระบาทก็ปรากฏอัศจรรย์ พระบาททั้งสองได้ยื่นออกจากผ้ากัมพลที่ห่อพระบรมศพไว้ถึง 500 ชั้นทะลุผ่านพระหีบทองทึบให้พระมหากัสสปะได้กราบซบลง
จากนั้นเตโชธาตุก็ลุกโพลง
แผดเผาพุทธสรีระอยู่ 7 วันจนหมดสิ้นคงเหลือแต่พระอัฐิธาตุ 7 ชิ้นที่ไฟไม่อาจทำลายได้คือ พระอุณหิส(กระดูกกระหม่อม) 1 พระเขี้ยวแก้ว(ฟันส่วนเขี้ยว) ทั้ง 4 พระรากขวัญ(กระดูกไหปลาร้า) ทั้ง 2
นอกนั้นแตกย่อยลงอย่างใหญ่สุดมีสัณฐานเท่าเมล็ดถั่วแตก อย่างกลางเท่าเมล็ดข้าวสาร อย่างเล็กเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด รวมกันตวงได้ 16 ทะนาน จากนั้นโทณพราหมณ์ผู้ได้รับการตั้งให้เป็นคนแจกจ่ายพระบรมสารีริกธาตุได้ทำการ แฮป เอาพระทาฒธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาซี่บนไว้เป็นสมบัติตัวโดยซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ
ปรากฏว่าพระอินทร์ส่องทิพยเนตรมาดูเห็นความไม่ซื่อของโทณพราหมณ์ก็คิดว่า ตาพราหมณ์นี้ไม่บังควรได้ของดีวิเศษเป็นเลิศประเสริฐในโลกเช่นนี้ไป ด้วยไม่อาจทำสักการวิธีอันสมควรแก่พระบรมธาตุได้ จึงตัดสินใจลงจากดาวดึงส์เทวโลกมา ขมาย คือแฮปต่ออีกทีหนึ่งไปประดิษฐานไว้ยังพระจุฬามณีเจดีย์สถานในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ส่วนพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาซี่ล่างถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่เมืองกลิงคราฐและปัจจุบันไปอยู่ลังกาทวีป (เมืองแคนดี้ในประเทศศรีลังกา) พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายซี่บนประดิษฐานที่เมืองคันธารราฐ (แถบตะวันออกกลางแถวเมืองบามิยัน) พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายซี่ล่างประดิษฐานอยู่ ณ นาคพิภพ
พระรากขวัญเบื้องขวาองค์อัมรินทราธิราชและหมู่เทพดามาอัญเชิญไปไว้ยังพระเกศแก้วจุฬามณีคู่กับพระเขี้ยวแก้วในเทวโลก พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิสท้าวฆฏิการพรหมมาอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาทุสเจดีย์ในพรหมโลก
ย้อนกล่าวถึงพระมหากัสสปะเถรผู้เป็นพุทธบุตร เมื่อกราบคารวะพระบรมศพแล้วก็เกิดปาฏิหาริย์คือพระอุรังคธาตุได้เสด็จออกจากพระหีบทองมาสู่ฝ่ามือขวาก่อนเตโชธาตุจะลุกเปลว
ท่านจึงดำเนินการตามพุทธดำรัสก่อนปรินิพพานคือให้นำพระอุรังคธาตุไปประดิษฐานไว้ ณ ดอยกปณคีรี เมืองศรีโคตบูรณ์
ดังนั้น พระมหากัสสปะผู้รัตตัญญูจึงชักชวนพระอรหันต์อีก 500 รูปกระทำอิทธิฤทธิ์โดยเหาะจากชมพูทวีปมายังเมืองศรีโคตบูรณ์ ครั้งนั้นประดาเจ้าเมืองที่ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพุทธปรินิพพานแม้จะเศร้าโศกโทมนัส ก็มีใจเบิกบานนักที่พระพุทธเจ้าสั่งความไว้ว่า ให้นำพระบรมธาตุมาประดิษฐานยังแว่นแคว้นของตน
เจ้าเมืองใหญ่คือ พญาสุวรรณภิงคาร ได้ประกาศข่าวบุญให้เจ้าเมืองอีก 4 บุรี มาร่วมบุณย์ ประกอบด้วย พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัฐนคร พญาคำแดง และ พญานันทเสน
เมื่อพญาทั้งห้ามาพร้อมพรักประกอบด้วยไพร่พลและข้าวของก็ทำการก่ออุโมงค์บรรจุพระอุรังคธาตุกับทั้งแก้วแหวนเงินทองสิ่งของมีค่าเครื่องแห่งพุทธบูชาเข้าไว้ในนั้น รายละเอียดการสร้างคงต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงด้วยจะยืดยาวเกินไป
ครั้นอุโมงค์ประดิษฐานพระธาตุแล้วเสร็จ พระมหากัสสปะเถรและพระอรหันต์ 500 รูป จึงได้กล่าวลาพญาทั้งห้า กระทำประทักษิณรอบอุโมงค์ถ้วน 3 รอบก็พากันเสด็จกลับกรุงราชคฤห์โดยทางอากาศ เพื่อเตรียมกระทำปฐมสังคายนาต่อไป
เนื่องจากพระธาตุพนมถูกสร้างขึ้นแต่ปี พ.ศ. 8 จึงเป็นธรรมดาที่จะเสื่อมโทรมลงตามกฏธรรมดาโลก และได้มีคณะพุทธบริษัทเข้าปฏิสังขรณ์อุโมงค์พระธาตุหลายคราว หากการบูรณะที่เป็นครั้งใหญ่อย่างแข็งแรงสวยงามมั่นคงนั้น คงนับได้ 3 วาระด้วยกัน คือ…
วาระที่ 1 ปี พ.ศ. 500 พญาสุมิตตธรรมวงศา ได้กราบอาราธนาพระอรหันต์ 5 รูปร่วมกันปฏิสังขรณ์โดยก่อเพิ่มจากอุโมงค์เป็นรูปเตาให้สูงขึ้นกว่าเดิม แต่ในบันทึกมิได้บอกว่าก่อขึ้นไปสูงเท่าใด ทราบเพียงว่าต่อเติมจากอุโมงค์เป็นพลาญชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งปัจจุบันวัดดูได้ความสูงประมาณ 14 เมตร
บูรณะคราวนี้พญาสุมิตตธรรมวงศาได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุออกมาประดิษฐานไว้บนพานทองคำ ท่านอมรฤาษีและท่านโยธิกฤาษี ไปเอาเจดีย์ศิลาซึ่งเดิมอยู่บนยอดเขาภูเพ็ก (ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร-ปัจจุบัน) มาตั้งไว้บนชั้นสองขององค์พระธาตุและพญาสุมิตตธรรมวงศาก็ได้อัญเชิญพระบรมธาตุบรรจุไว้ในเจดีย์ศิลานั้น เหล่าเสนามหาอำมาตย์ก็นำพระพุทธรูปทองคำและเงิน กับพระอรหันตธาตุพร้อมอัญมณีมีค่านานัปการบรรจุไว้ตามมุมแห่งเจดีย์นั้น
จะว่าตำนานไม่เป็นความจริงเสมอไปก็มิได้ เพราะเมื่อทำการพิสูจน์ที่ยอดเขาภูเพ็กในเขตจังหวัดสกลนคร ก็พบกับแท่งศิลาเนื้อเดียวกัน ชนิดเดียวกัน สีเดียวกันนี่เองอยู่ ณ จุดอันเป็นที่ตั้งเจดีย์ศิลาเดิมดังที่เล่าไว้ในตำนานไม่ผิดเพี้ยน เป็นแต่แท่งศิลานี้ใหญ่กว่าเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ในบันทึกผ่านไปแล้วร่วมสองพันกว่าปี
วาระที่ 2 ปี พ.ศ. 2233-2235 องค์พระธาตุได้รับการบูรณะหนใหญ่อีกด้วยบารมีของ ท่านเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่ง วัดโพนสะเม็ก เมืองเวียงจันทน์ โดยท่านได้ต่อยอดก่ออิฐเพิ่มเติมจากชั้นสองขององค์ธาตุขึ้นไปอีกรวมสูง 47 เมตร เชื่อกันว่าท่านเจ้าราชครูได้พบกับพระอุรังคธาตุและประกอบพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุอีกวาระ
เนื่องจากเราได้พบแผ่นทองคำ 3 แผ่นจารึกอักษรลาวโบราณและอักษรขอมเล่าถึงเหตุการณ์ที่บูรณะทั้งวันเดือนปีพร้อมสรรพ และยังค้นพบพระพุทธรูปทองคำ-เงิน กับอัญมณีต่าง ๆ ซึ่งสร้างในสมัยเวียงจันทน์และหลวงพระบางเป็นจำนวนมากอยู่รอบ ๆ เจดีย์ศิลา และท่านราชครูยังได้สร้างผอูบสำริดหลังใหญ่ขึ้นเพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุ
อันเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กนี้นับว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการอย่างเอกอุเหลือพรรณนา ความเป็นอัจฉริยะบุคคลในพระศาสนาฉายแววมาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยเดิมทีท่านเป็นสามเณรอยู่ในปกครองของท่านพระครูลึมบอง อยู่ที่เมืองพาน
ครั้นอายุได้ 14 ปี ท่านได้เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านพระครูยอดแก้ว สังฆนายกแห่งเมืองเวียงจันทน์ ตรงกับปีพ.ศ. 2186 เมื่อท่านมาอยู่ด้วยพระครูยอดแก้ว ท่านก็ใส่ใจใฝ่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จำความในพระไตรปิฎกได้อย่างแตกฉานรวดเร็ว เหตุนี้เกียรติคุณในท่านจึงเป็นที่เล่าลือกว้างขวางไปทั่วนครเวียงจันทน์
ข่าวนี้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระเจ้าเวียงจันทน์ พระองค์ทรงโปรดสามเณรน้อยรูปนี้มากจึงพระราชทานยศศักดิ์อภิเษกเป็น ราชาจัว (จัวเป็นภาษาพื้นเมืองใช้เรียกสามเณร) และปวารณาพระองค์เป็นอุปัฏฐากอุปถัมภ์บำรุงอย่างดี
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2192 ราชาจัวอายุครบบวช พระเจ้าเวียงจันทน์และท่านพระครูยอดแก้วจึงทำการอุปสมบทให้อย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร โดยทำสีมาสมมุติคือ อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) ณ ท่าน้ำเมืองเวียงจันทน์ และใช้พระสงฆ์ในการญัตติจตุตถกรรมถึง 500 รูป
เมื่อพิธีอุปสมบทเสร็จสิ้นลง ชะรอยจะเป็นด้วยบุญญาภินิหารแห่งท่านเข้าดลบันดาลให้มหาชนประจักษ์ชัดถึงบารมีพระนวกะรูปนี้กระมัง จึงเกิดเหตุไม่คาดคิดคือแพขนาดใหญ่ซึ่งสมมุติเป็นโบสถ์นั้นได้แตกล่มจมลง ทั้งพระและโยมถูกเทลงแม่น้ำหมดสิ้น อุบัติเหตุคราวนั้นแม้ไม่มีใครถึงชีวิตแต่ก็ตกน้ำเปียกปอนตะเกียกตะกายขึ้นฝั่งเป็นโกลาหล
สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้นเมื่อพระบวชใหม่ซึ่งตกน้ำไปพร้อมกันก้าวขึ้นฝั่งมา ทั้งเนื้อตัวและไตรจีวรของท่านนั้น
ไม่เปียกน้ำเลย !!
เหตุการณ์นี้เพิ่มความอัศจรรย์ใจแก่พระภิกษุและประชาชนทั้งหลายยิ่งนัก โดยเฉพาะพระเจ้าเวียงจันทน์เมื่อประจักษ์ชัดในบุญฤทธิ์ของพระหนุ่มรูปนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้ท่านเป็นพระครู ประชาชนจึงพากันเรียกท่านว่า พระครูโพนสะเม็ก
ท่านรับธุระพระศาสนาสอนทั้งหนังสือปริยัติธรรมและสอนการเจริญภาวนากัมมัฏฐานให้แก่พระภิกษุสามเณร เชื้อพระวงศ์และสามัญชนทั่วไป กล่าวกันว่าเมตตาธิคุณในท่านพระครูโพนสะเม็กนั้นมากมายนัก ไม่แบ่งชั้นวรรณะแต่อย่างใด
ลุปี พ.ศ. 2233 ท่านพระครูมีชนมายุได้ 41 ปี ท่านได้ทูลลาพระเจ้าเวียงจันทน์ลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนมพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ถึง 3,000 คน ท่านไปถึงที่ใดผู้คนก็ขอเข้าร่วมขบวนทั้งสิ้น… มากเข้าโดยลำดับ
เมื่อถึงองค์พระธาตุท่านจึงเริ่มการปฏิสังขรณ์โดยทำการหล่อเหล็กศักดิ์สิทธิ์ขึ้นชนิดหนึ่งทำเป็นยอดเจดีย์และฉาบทาตัวผอูบ เหล็กนี้เรียกกันว่า เหล็กเปียก ถือกันว่าเป็น เหล็กไหล จำพวกหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก ทรงอานุภาพคงกระพันกันเขี้ยวงา ขับภูตผีปีศาจ ป้องกันไฟและกันฟ้าผ่า เป็นมหาอุดยิงไม่ออก เตือนภัยและกันภัยสารพัด
งานที่ท่านดำเนินการนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ทำแต่ต้นหีบขึ้นไปถึงกลีบบัวคว่ำบัวหงายเป็นอิฐถือปูนนี่ช่วงที่หนึ่ง จากนั้นต่อขึ้นไปเป็นรูปโกศหล่อด้วยโลหะเนื้ออ่อนที่ทราบกันดีว่าเป็น เหล็กเปียก นี่คือช่วงที่สอง
จากเหล็กเปียกขึ้นไปถึงฉัตรหล่อด้วยทองแดงสวมต่อขึ้นไปอีก ตอนปลายสุดทำเป็นปมมีรูไว้สำหรับปักฉัตรนี่เป็นช่วงที่สาม ตัวฉัตรที่ท่านพระครูทำนั้นเป็นทองคำฝังพลอยและนิลหัวแหวนโดยรอบทุกชั้นนับได้เบ็ดเสร็จประมาณ 300 เม็ดเศษ แกนคันฉัตรเป็นเหล็ก ก้านคันฉัตรทุกก้านเป็นเงินบริสุทธิ์ฝังพลอยทุกก้านเช่นเดียวกัน
ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2547) ยอดฉัตรก็ดี ยอดพระเจดีย์ก็ดี ผอูบสำริดก็ดี ทางวัดพระธาตุพนมได้นำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้านล่างภายหลังจากองค์พระธาตุล้มในปี พ.ศ. 2518 คนที่ไปวัดพระธาตุพนมสามารถไปสักการะบูชาและชมของจริงได้อย่างเต็มตาแบบไม่มีอะไรปิดกั้น (เว้นลูกกรงกันโจร)
ท่านพระครูโพนสะเม็กซ่อมพระธาตุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2233 จนถึงปี พ.ศ. 2235 รวม 3 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ รวมความสูงจากพื้นดินถึงฉัตรได้ 47 เมตร
ล่วงถึงปี พ.ศ. 2256 ท่านพระครูมีชนมายุได้ 83 ปี ได้มีการผลัดแผ่นดินสถาปนาให้ เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ขึ้นเป็นเจ้าครองเมือง และพระราชทานสมณศักดิ์ให้ท่านพระครูโพนสะเม็กเป็น เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก ตำแหน่ง สังฆนายกแขวงนครจำปาศักดิ์
ว่ากันว่า ยิ่งชราภาพพระบารมีในท่านก็ยิ่งหอมฟุ้งไปทั่ว ด้วยอำนาจศีลาจริยาวัตรที่งดงาม ด้วยเมตตาที่ท่านมีให้ทุกคนไม่เลือกหน้า ทำให้ท่านเป็นที่เคารพรักของผู้คนยิ่งนัก พูดถึงขนาดว่าท่านมีความดีเป็นที่สุดจนกระทั่งถ่ายหนักออกมาก็ยังหอม ยังมีคนต้องการนำไปบูชา จึงมีอีกสมญานามที่ประชาชนเรียกโดยเคารพคือ “ท่านพระครูขี้หอม”
ถึงปี พ.ศ. 2263 เจ้าราชครูมีชนมายุได้ 90 ปี ท่านก็อาพาธด้วยโรคชรา ด้วยท่านรู้กาลภายหน้าเป็นอย่างดีจึงสั่งความแก่เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรว่า เมื่อประชุมศพท่านแล้วเสร็จให้นำอัฐิมาไว้ยังบริเวณพระธาตุพนม
ล่วงถึงวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 ท่านเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กก็ถึงแก่มรณะกาล คณะศิษย์ได้ประชุมเพลิงแล้วนำอัฐิธาตุของท่านมาบรรจุในเจดีย์น้อยด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระธาตุพนม ผู้คนพากันเรียกเจดีย์น้อยองค์นี้ว่า “ธาตุท่านโพนสะเม็ก” หรือ “ธาตุพระครูขี้หอม” แต่บางคนก็เรียกว่า “ธาตุพระอรหันต์ภายสร้อย” แต่จะอย่างใดก็เป็นท่านนั่นเอง
วาระที่ 3 บูรณะในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นรัฐบาล ตรงกับปี พ.ศ. 2483 โดยสร้างครอบแบบสวมทับพระธาตุองค์เดิมตั้งแต่ชั้นที่ 3 ขึ้นไป และต่อยอดใหม่ให้สูงขึ้นไปอีกถึง 10 เมตร รวมความสูงถึงยอดฉัตรเป็น 57 เมตร แม้แต่คุณหลวงวิจิตรวาทการผู้เป็นคนรับผิดชอบการก่อสร้าง ยังบอกว่าหวั่นเกรงองค์พระธาตุจะพังด้วยฐานเดิมเก่ามากแต่มิได้บูรณะ หากเติมยอดต่อยอดกันเพียงอย่างเดียว แล้วก็พังจริง ๆ
ของเขาอยู่มาตั้งเป็นพัน ๆ ปี ถล่มหลังต่อเติมได้ไม่นานเพราะทำอย่างไม่รอบคอบ ไม่อยากต่อว่าจอมพล ป. เพราะท่านคงมีเจตนาดี หากท่านทำอะไรแปลก ๆ กับศาสนาหลายอย่าง คราวย้ายเทวรูปในโบสถ์พราหมณ์ไปก็ทีหนึ่งละ อ้างว่าน้ำท่วมเกรงพราหมณ์จะรักษาไม่ไหว แหม ! ว่าจะไม่พูดถึงแล้วเชียว ไม่พูดก็ไม่พูด เอาเป็นว่าซ่อมใหญ่ 3 วาระ แต่วาระ 3 ไม่อยากพูดถึงจึงขอคุยถึงวาระพิเศษแล้วกัน จะคุยเรื่องนี้ต้องพาท่านผู้อ่านย้อนยุคกลับไปอีกที โน่นครับสมัยปี พ.ศ. 2444 โน่นในปีนี้นะ องค์พระธาตุพนมเก่าชราคร่ำคร่ามากที่สุด เหตุเพราะไม่มีใครเข้ามาบูรณะเลยตลอดระยะเวลา 209 ปี หลังจากท่านเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กทำนวกรรมครั้งใหญ่ไปตอนนั้น เพราะอะไรน่ะหรือ ?
กลัวตายน่ะสิ !!
เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนปี พ.ศ. 2444 พระธาตุพนมทรุดโทรมไม่เจริญตาเจริญใจเลย ถึงขนาดมีต้นโพธิ์ ต้นไทรโตเท่าแขนผู้ชายตัวใหญ่ ๆ ขึ้นเกาะรกเรื้อตามองค์พระธาตุเต็มไปหมด เศษอิฐเศษปูนแตกกะเทาะหล่นเกลื่อนกลาดรอบพระเจดีย์เป็นที่น่าสลดใจ
แม้วิหารใหญ่ซึ่งเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ได้ปฏิสังขรณ์ไว้อย่างสวยงามอลังการ เล่ากันว่าหากใครเข้าไปในวิหารหลวงนั้น ตัวย่อมเหลืองอร่ามดังทองทาด้วยภายในปิดทองล่องชาดแต่งแต้มล้วนแล้วด้วยทองคำ เรียกมหาวิหารนี้ว่า หอพระแก้ว
แต่ปีนี้เล่า หอพระแก้วยังไม่พ้นพังทลายลงด้วยกาลเวลาเป็นกองอิฐกองปูน ไม่มีสิ่งใดเหลือพอประกาศความงามในอดีตให้ระลึกได้
ลานพระบรมธาตุเองก็รกเรื้อไปด้วยหญ้าคา หญ้าแพรก และเศษใบไม้เกลื่อนกลาด กระทั่งจะหาที่ลงนั่งเพื่อกระทำสักการะก็ไม่มี
นับแต่สถาปนาองค์พระธาตุพนมมา ในยุคนี้นับว่าเข้าสู่ภาวะเสื่อมโทรมถึงขีดสุด และมิใช่ว่าเป็นเพราะชาวบ้านร้านถิ่นละแวกนั้นไร้ศรัทธาในองค์ธาตุ ใช่ว่าเขาทั้งหลายจะไม่เคยคิดบูรณะให้งดงาม แต่….
ใครก็ตามที่หาญกล้าเป็นผู้นำ ลงมือดายหญ้า เก็บกวาดใบไม้ หรือปัดกวาดเศษอิฐ เศษปูน ไม่ต้องทันนานย่อมประสบเหตุชวนสยองอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ บ้างก็เลือดออกปากออกหู บ้างก็เป็นลมชักตาตั้ง บ้างป่วยไข้เอาหนักหนารักษาอย่างไรก็ไม่หายได้เลย จนกระทั่ง…
ต้องนำกุ้งพล่าปลายำ เครื่องเซ่นสรวงบัดพลีและดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาขมาโทษ อาการวิปริตที่เกิดขึ้นแก่คนเหล่านั้นก็จะหายไปเป็นอัศจรรย์และนี่มิใช่คำขู่
เพราะที่ตายไปจริง ๆ ก็มีมาก ทำให้พระธาตุพนมขณะนั้นเป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับใคร ๆ เชื่อกันว่า อารักษ์ ของพระบรมธาตุนี้เฮี้ยนนัก
ครั้นถึง พ.ศ. 2444 มีพระธุดงค์เที่ยววิเวกผ่านมายังพระธาตุพนมแล้วแวะเข้ามาแขวนกลดอยู่ในป่าบริเวณตระพังโบราณ(สระน้ำ)ใกล้องค์ธาตุ เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวก็พากันเข้ามากราบนมัสการด้วยความปีติยินดี
ครั้นสนทนากันแล้วจึงได้ทราบว่ารูปหนึ่งคือ ท่านพระครูสีทา ชยเสโน วัดบูรพา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่ในหมู่พระกัมมัฏฐานภาคอีสาน อีกรูปหนึ่งคือ พระปัญญาพิศาลเถร หรือ ท่านเจ้าคุณหนู ฐิตปัญโญ วัดปทุมวนาราม พญาไท กรุงเทพ ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ต่อมาท่านทั้งสองและคณะได้เมตตาพักจำพรรษายังสถานที่นั้นเพื่อโปรดชาวบ้านให้มีที่พึ่งหายขลาดกลัวกับพระธาตุ ชาวบ้านจึงพากันร้องขอให้ท่านทั้งสองเป็นองค์บูรณะพระธาตุพนม
ท่านอาจารย์ทั้งสองได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบุญญาบารมีและวาสนาในท่านมีไม่พอกับองค์ธาตุ จึงแนะนำให้ทายกทายิกาชาวธาตุพนมลงไปเมืองอุบลราชธานี เพื่อนิมนต์พระมหาเถระรูปหนึ่งมาปฏิสังขรณ์ด้วยเชื่อมั่นในบุญบารมีของท่าน ท่านมีสมณศักดิ์ว่า พระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช ภายหลังท่านได้เลื่อนเป็น พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นันตโร)
หากชาวอุบลฯ นิยมเรียกท่านโดยศรัทธาอย่างแรงกล้าว่า ท่านพระครูดีโลด บ้าง ญาท่านดีโลด บ้าง หรือ หลวงปู่ดีโลด บ้าง
ญาท่านดีโลด มีคุณธรรมที่ควรแก่ภิกษุและความเป็นครูโดยแท้ ด้วยท่านเป็นผู้มีขันติธรรมความอดทน มีวิริยะความเพียร มีใจสุขุมคัมภีรภาพ เยือกเย็น อ่อนโยน มีเมตตากรุณาแก่บุคคลทุกประเภท รู้หลักการพูดจาปฏิสันถารแก่ชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรท่านก็ว่าดีทั้งนั้นไม่มีขัดคอ
ที่สำคัญ ท่านเก่งงานนวกรรมคือการก่อสร้างมาก งานเผาอิฐ ก่ออิฐ ฉาบปูน กระทั่งถึงรายละเอียดที่ต้องเขียนภาพและลวดลายจำหลักต่าง ๆ ท่านก็ปรีชาสามารถนัก ทำให้ท่านเหมาะสมแก่การบูรณะองค์พระธาตุพนมเป็นที่สุด
ดังนั้น คณะศรัทธาชาวนครพนมจึงเดินทางลงมายัง วัดทุ่งศรีเมือง ในตัวจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อกราบอาราธนาท่านพระครูวิโรจน์ฯ
เมื่อท่านทราบความก็มิได้ปฏิเสธแต่อย่างใด หากรับคำด้วยความยินดียิ่งและกำหนดวันเดินทางไปวัดพระธาตุพนมทันที
ท่านมาถึงพระธาตุพนมในเดือนอ้าย ข้างขึ้น แรกเริ่มท่านได้ประชุมผู้ใหญ่และชาวบ้านว่าจะให้ท่านทำอย่างใด เขาว่าให้พาปูลานพระธาตุเอาหญ้ารกออกพอให้มีที่นั่งกราบไหว้บูชาเท่านั้นก็พอ ท่านจึงตอบว่า “ ถ้าไม่ให้เราทำแต่ดินไปจนถึงยอดพระธาตุและแต่ยอดลงมาถึงดินแล้วเราจะไม่ทำ”
ด้วยความขลาดกลัวชาวบ้านจึงพากันคัดค้านไม่ให้ท่านทำ กล่าวหาว่าท่านเป็นพระแต่ไม่อยู่ในธรรมวินัย จะรื้อเจดีย์ตัดศรีมหาโพธิ์ลอกหนังพระเจ้า บาปหนัก บ้างก็ว่า ถ้าปล่อยให้ท่านทำอย่างนั้น ภูมิอารักษ์ ที่ดูแลองค์ธาตุอยู่ย่อมบันดาลให้วิบัติฉิบหายตายกันเป็นเบือดั่งที่เคยประสบ
ญาท่านดีโลดและคณะศิษย์จึงเมตตาชี้แจงแก่ชาวบ้านให้เห็นตามเป็นจริง แต่ก็ไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ท่านจึงว่า เมื่อไม่ยอมให้ทำการซ่อมแซมโดยวิธีดังกล่าวก็จะกลับอุบลล่ะนะ ชาวบ้านตอบว่า จะกลับก็ตามใจ แล้วพากันเลิกประชุมแยกย้ายกันกลับบ้านไป
และเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น…!
ขณะชาวบ้านแยกย้ายกันเพื่อกลับเรือนตนนั้น หลายคนยังไม่ทันได้ถึงบ้าน ก็เกิดผีเข้าเจ้าสิงประกาศศักดาเดชว่าเป็นเจ้าเฮือนผู้ทรงมเหศักดิ์สถิตอยู่ ณ องค์พระธาตุพนม พากันบ่นด่าคาดโทษพวกชาวบ้านให้วุ่นวายอลหม่าน ชี้หน้าด่ากราดต่อชาวบ้านที่ขัดขวางท่านพระครูมิให้ซ่อมแต่งองค์พระธาตุ และประกาศก้องในท่ามกลางว่า…
“อ้ายอีคนใดมันบังอาจขัดขวางเจ้ากูมิให้ซ่อมแซมพระธาตุได้ กูจะหักคอมันเสีย ท่านอยากทำก็ปล่อยให้ทำเป็นไร สูจะไปขัดขืนท่านทำไม แต่กูเองก็ยังกลัวท่าน”
ชาวบ้านพากันตกตะลึงพรึงเพริด เมื่อเหตุการณ์กลับตาลปัตรเช่นนั้นก็พากันหวาดกลัวต่อความตายที่กำลังกวักมือเรียกอยู่ตรงหน้า ชักชวนกันโกยอ้าวกลับมาวัดทั้งที่ยังไม่ถึงบ้านตน เมื่อพบท่านพระครูวิโรจน์ฯ ก็พากันกราบไหว้ร้องไห้วิงวอนขอขมาลาโทษเป็นการใหญ่ นิมนต์ไว้มิให้กลับอุบลฯ ประสงค์จะทำอย่างใดก็ทำเถิด
ฝ่ายท่านพระครูวิโรจน์ฯ เห็นการณ์เป็นเช่นนี้ก็ดำริอยู่ในใจว่า “ความมุ่งหวังของเราจะสำเร็จเป็นมั่นคงคราวนี้แล้ว เพราะแม้ผีสางเทวดาก็ช่วยเรา” หากกิริยาภายนอกท่านแสร้งทำทีจะกลับอุบลฯในวันรุ่งขึ้นให้ได้ ชาวบ้านก็วิงวอนไม่หยุดปากมอบธุระแก่ท่านทุกสิ่งจนเป็นที่พอใจแก่ท่านพระครูแล้ว ท่านก็รับนิมนต์อยู่ต่อไป
นี่คือบุญฤทธิ์ที่น่าอัศจรรย์ใจในองค์ท่านพระครูวิโรจน์ฯ สมดังที่ท่านพระครูสีทาและท่านพระอาจารย์หนูได้กล่าวรับรองว่า ท่านพระครูดีโลดเท่านั้นที่จะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมได้ เพราะแม้เทพยดาที่ทรงมหิทธานุภาพก็ยังคร้ามเกรงต่อบารมีของท่าน
งานได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในเดือนอ้าย ขึ้น 14 ค่ำ เมื่อแรกไม่มีใครกล้ามาช่วยด้วยกลัวอันตรายจากสิ่งลึกลับ แม้พระ-เณรในวัดเองยังปิดหน้าต่างประตูกุฏิหลบลี้หนีหน้าไม่กล้ามองดู
ต่อนานเข้าถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คนจึงหลั่งไหลมาดังมดดังปลวกจนจะไม่มีที่พัก สรรพอาหารทั้งสดทั้งแห้ง และเงินทองก็หลั่งไหลมาไม่ขาดสายมากมายผิดปกติ แม้เจ้าเมืองสกลนครและหนองคายก็ให้ช้างมาใช้ในงานจนแล้วเสร็จ
ข้างเศษอิฐเศษปูนที่กะเทาะเรี่ยจากองค์ธาตุ ท่านพระครูมิให้ทิ้งเกะกะ ท่านให้เก็บแม้เศษเล็กเศษน้อยแล้วทำเจดีย์เล็กบรรจุไว้ต่างหากที่ลานพระธาตุด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียกกันว่า ธาตุหุ่น ต่อนั้นจึงทำการฉลองขึ้นในวันพุธ เดือน 3 ขึ้น 13 ค่ำ
การซ่อมพระธาตุพนมในปกครองท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบลควรจบลงแล้วแต่เพียงนี้ ทว่าเหตุต่อไปดังจะเล่านับว่าเป็นอุทธาหรณ์ที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งนักกับคนไม่รู้บาปรู้บุญ
เมื่อญาท่านดีโลดบูรณะพระธาตุแล้วเสร็จยังมีเงินเหลืออีกประมาณ 100 ชั่งเศษ ๆ เทียบปัจจุบันก็เป็นล้าน เงินดังกล่าวท่านและคณะได้นำไปมอบให้พระยาพนมครานุรักษ์ เจ้าเมืองนครพนมเก็บรักษา ต่อมาเจ้าเมืองไม่รู้ความควรไม่ควรนำเงินไปออกดอกให้กู้ยืมหมุนไปหมุนมา ครั้นทางวัดต้องการปัจจัยมาใช้ ก็ได้เงินไม่ครบจำนวน
ไม่นานนักก็เข้าสู่ฤดูฝน และในวันหนึ่งของเดือนหกได้เกิดฟ้าผ่าลงมาอย่างแรงที่ต้นมะพร้าวในจวนท่านเจ้าเมือง ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็ว ไฟลามไปถึงตัวเรือนโดยไม่สามารถดับได้ทันแล้วลุกลามไปยังหอนั่งว่าราชการกระทั่งไหม้ไปจนทุกอาคารในบริเวณ อีกทั้งยังเกิดฟ้าผ่าลงไปที่โรงช้าง โรงม้า จนวอดวายหมดไม่อาจทำอะไรได้ คงแต่ห่อวัตถุเงินทองของมีค่าต่าง ๆ นานาเท่าที่จะหยิบฉวยได้ออกจากบ้านไปไว้กลางทุ่ง
และเป็นที่น่าขนหัวลุก เมื่อบังเกิดไฟฟ้าสีเขียววิ่งเป็นสายออกจากกองไฟใหญ่ตามไปเผาวัตถุสิ่งของที่ก่ายกองกันไว้กลางทุ่ง จะกี่กอง กี่กลุ่ม ไฟฟ้าก็ตามไปเผาหมดสิ้นไม่มีชิ้นดี หากบ้านเรือนในละแวกใกล้เคียงจะถูกไฟทำอันตรายแม้สักน้อยก็หาไม่
นอกจากนี้ในวันเดียวกันได้เกิดอาเพศมีเรือสำเภา 2 ลำ ซึ่งพ่อค้าบนเรือได้มาขอยืมเงินท่านเจ้าเมืองไปทำทุนและเงินนั้นก็คือเงินวัด ขณะแล่นอยู่ในแม่น้ำโขงได้เกิดลมพายุใหญ่อย่างกะทันหันพัดตีเรือล่มจมลงเสียทั้งสองลำ
เหตุการณ์นี้สร้างความอัศจรรย์แก่ประชาชนยิ่งนัก ทำให้เพิ่มความเคารพยำเกรงในองค์พระธาตุพนมมากขึ้นไปอีก ทุกวันนี้คนเฒ่าคนแก่ยังเล่าเรื่องนี้สืบต่อกันมาและสอนลูกสอนหลานว่าอย่าประมาทในองค์พระธาตุพนมและสมบัติขององค์ธาตุเป็นอันขาด มิฉะนั้นย่อมถึงแก่ความวิบัติได้ในวันข้างหน้า เรื่องนี้เกิดในราวปี พ.ศ. 2450
เกี่ยวกับสมบัติในองค์พระธาตุยังมีอีก เช่นครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2445 พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ได้สั่งให้คนนำกลองมโหระทึกของพระธาตุพนมขึ้นไปไว้ยังตัวเมืองนครพนม เวลานั้นคนงานได้มาทำการหามย้ายกลองจากในวัดพระธาตุเคลื่อนออกไปทางถนนอิฐเพื่อออกประตูน้ำหน้าวัดซึ่งเป็นประตูที่หนึ่ง
บัดนั้นเอง ได้เกิดอาเพศวิปริตต่อหน้าพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ คือมีเสียงดังตึงตังโครมครามขึ้นในกลองมโหระทึกแล้วมีสัตว์ประหลาดตัวใหญ่เท่าคนมีขนสีดำรุงรังทั้งร่าง หน้าตาน่าสะพรึงกลัววิ่งออกมาจากกลองได้อย่างไม่น่าเชื่อ ปีศาจนั้นเผ่นตะโพงลงไปในบึงทางใต้วิ่งไปบนน้ำแตกกระจายเป็นระลอกเสียงดังสนั่นดุจควายใหญ่วิ่งลุยน้ำไปกระนั้น พระยาสุนทรกิจจารักษ์และบริวารตกใจสุดขีดยืนตะลึงพรึงเพริดไม่รู้สติไปครู่ใหญ่
ครั้นได้สติก็ทิ้งกลองมโหระทึกพากันวิ่งหนีไปคนละทิศละทางแหกปากร้องเอะอะว่า ผีหลอก… ผีหลอก… ต้องนำมโหระทึกลูกนั้นกลับมาไว้ในวัดพระธาตุพนมอย่างเก่า ต่อมาคนเหล่านั้นพากันล้มป่วยลงมีอาการหนัก ต้องให้ญาติพี่น้องนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้บูชาขอขมาองค์พระธาตุและเทวดาอารักษ์ที่รักษาวัดจึงได้หายเป็นปกติ
นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีใครล่วงเกินได้