พระธาตุพนมในสมัยก่อน ประชาชนแถวนั้นคงไม่รู้ถึงความสำคัญ จึงไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก เมื่อคณะของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้มาพำนักจำพรรษา จึงได้เปิดเผยความลี้ลับและความศักดิสิทธิ์ ประชาชนและทางบ้านเมืองจึงได้ตื่นตัว ต่อมาได้มีการบูรณะขึ้นมาจนกลายเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของภาคอีสาน และของประเทศไทยในปัจจุบัน
จึงนับได้ว่าการมาพำนักของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระปัญญาพิศาลเถร (หลวงปู่หนู ฐิตปญฺโญ) และคณะ ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ จึงถือเป็นคุณมหาศาล ที่ทำให้ชนรุ่นหลังได้พระธาตุพนมสถานศักดิ์สิทธิ์เพื่อการกราบไหว้มาจนทุกวันนี้
ในบันทึกของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ที่ได้ฟังจากปากของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ บันทึกไว้ดังนี้
“ท่านเล่าไปเคี้ยวหมากไปอย่างอารมณ์ดีว่า ขณะนั้นพระธาตุพนมไม่มีใครเหลียวแลดอก มีแต่เถาวัลย์นานาชนิดปกคลุมจนมิดเหลือแต่ยอด ต้นไม้รกรุงรังไปหมด
ทั้งสาม ศิษย์อาจารย์ก็พากันพักอยู่ที่นั่นเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กันนั้น พอตกเวลากลางคืนประมาณ ๔ – ๕ ทุ่ม จะปรากฏมีแสงเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าว และมีรัศมีสว่างเป็นทางผุดออกจากยอดพระเจดีย์ แล้วก็ลอยห่างออกไปจนสุดสายตา และเมื่อถึงเวลาก่อนจะแจ้ง ตี ๓ – ๔ แสงนั้นจะลอยกลับเข้ามาจนถึงองค์พระเจดีย์ แล้วก็หายวับเข้าองค์พระเจดีย์ไป
ทั้งสามองค์ ศิษย์อาจารย์ได้เห็นเป็นประจักษ์เช่นนั้นทุกๆ วัน ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร จึงพูดว่าที่พระเจดีย์นี้ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุอย่างแน่นอน”
ในบันทึกของหลวงพ่อโชติ อาภคฺโค เล่าถึงเหตุการณ์เดียวกัน
“นับแต่วันแรกของการอธิษฐานเข้าพรรษา พระอาจารย์เสาร์ได้เห็นแสงฉัพพรรณรังสี พวยพุ่งออกมาจากองค์พระธาตุในระยะหัวค่ำ ครั้นพอจวนสว่างก็ปรากฏแสงสีต่างๆ ลอยพวยพุ่งเข้าสู่องค์พระธาตุเหมือนเดิม
ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดนั้น ปรากฏขึ้นโดยตลอดจนออกพรรษา
ท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านเชื่อแน่ว่า พระธาตุนี้บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย”
ท่านอาจารย์พิศิษฐ์ ไสยสมบัติ ได้ไปเสาะหาข้อมูลในภายหลังได้บันทึกไว้ดังนี้ :-
“เรื่องแสงประหลาดลอยออกจากพระธาตุฯ มีผู้รู้เห็นกันมากมาย เรื่องนี้มีการเล่าขานสู่กันฟังในหมู่ลูกหลานชาวเมืองพนม (ชาวธาตุพนม) ว่า ตกมื้อสรรวันดี ยามค่ำคืนกะสิมีแสงคือลูกไฟลอยจากพระธาตุให้ไทบ้านไทเมืองพนมได้เห็นกันทั่ว
ข้าพเจ้าได้สอบถามจากคุณเฉลิม ตั้งไพบูลย์ เจ้าของร้านเจียบเซ้ง จำหน่ายยารักษาโรค ผู้ตั้งรกรากอยู่ที่ถนนกุศลรัษฎากร อันเป็นถนนจากท่าน้ำตรงไปยังวัดพระธาตุพนม ท่านเล่าให้ฟังว่า
สมัยก่อนนั้น (เมื่อ ๔๐ ปีย้อนหลัง) ท่านยังได้เห็นแสงจากองค์พระธาตุอยู่บ่อยๆ คือตอนกลางคืนราว ๓ – ๔ ทุ่ม จะมีแสงสว่างคล้ายหลอดไฟ ๖๐ แรงเทียน เป็นทรงกลมเท่าผลส้ม ลอยออกจากองค์พระธาตุฯ ในระดับสูงเท่ายอดมะพร้าว (๔๐ – ๕๐ เมตร) ลอยขนานกับพื้นในระดับความเร็วกว่าคนวิ่ง พุ่งไปทางทิศตะวันออก ผ่านหลังคาบ้านของท่าน… แล้วลอยข้ามโขง (แม่น้ำโขง) ไปจนลับสายตา… พอตกดึกจวนสว่างก็จะลอยกลับมาในแนวเดิม แล้วลับหายเข้าสู่องค์พระธาตุฯ เหมือนเดิม ผู้คนแถวนี้ได้เคยเห็นกันอยู่บ่อยๆ ปัจจุบันนี้ไม่มีปรากฏให้เห็นอีก”
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้พูดถึงการบำเพ็ญสมณธรรมที่พระธาตุพนมในครั้งนั้นว่า “การพักอยู่ในบริเวณของพระธาตุพนมนี้ทำให้จิตใจเบิกบานมาก และทำให้เกิดอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างดียิ่ง”
จากบันทึกของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ตามคำบอกเล่าของหลวงปู่มั่น เกี่ยวกับการเริ่มต้นบูรณะพระธาตุพนม มีว่า :-
“ดังนั้น ท่าน (หลวงปู่ใหญ่เสาร์) จึงได้ชักชวนญาติโยมทั้งหลายในละแวกนั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน และส่วนมากก็เป็นชาวนา ได้มาช่วยกันถากถางทำความสะอาดบริเวณองค์พระเจดีย์นั้น ได้พาญาติโยมทำอยู่เช่นนี้ ๓ เดือนเศษ จึงค่อยสะอาดเป็นที่เจริญหูเจริญตามาตราบเท่าทุกวันนี้
เมื่อญาติโยมทำความสะอาดเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ก็พาญาติโยมในละแวกนั้นทำมาฆบูชา ซึ่งขณะนั้นผู้คนแถวนั้นยังไม่รู้ถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงจัง จนได้ชักชวนกันมารักษาอุโบสถ ฝึกหัดกรรมฐานทำสมาธิกับท่านอาจารย์จนได้ประสบผลตามสมควร”
บันทึกของหลวงพ่อวิริยังค้ามีต่อไปว่า
“…จากนั้นท่านทั้งสามก็ได้ออกเดินทางจาริกต่อไป และแสวงหาความสงบตามป่าดงพงพีไปเรื่อยๆ โดยมุ่งหวังเพื่อบรรลุธรรม แต่ก็ยังไม่สมความตั้งใจไว้
ต่อมาพระอาจารย์เสาร์ ก็พากลับจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นเดิมของท่าน”
ในบันทึกของหลวงพ่อโชติ อาภคฺโค มีดังนี้.:–
“ท่านพระอาจารย์เสาร์ จึงได้ข่าวประกาศให้ญาติโยมจังหวัดนครพนมได้ทราบว่า พระธาตุพนมนี้เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ขอให้ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายช่วยกันถากถาง ทำความสะอาดบริเวณพระธาตุ แล้วทำบุญอุทิศถวายกุศลแด่พระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของเรา
เมื่อชาวบ้านชาวเมืองได้รู้เช่นนั้นแล้ว ก็พากันบังเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เอิกเกริกโกลาหลกันเป็นการใหญ่
ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ท่านพระอาจารย์ ก็พาญาติโยมทั้งหลายทำบุญ อันมีพระอาจารย์มั่น และท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร รวมอยู่ด้วย จนเป็นประเพณีสืบๆ ต่อกันมามิได้ขาด จนกระทั่งบัดนี้ ”
หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค ได้เปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปมัยในการค้นพบพระธาตุพนม ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ และคณะศิษย์ ดังนี้ :-
“เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๓ หลังจากที่ชาวเมืองนครพนมจมอยู่ในความมืดบอดเป็นเวลานาน ปล่อยให้พระธาตุเป็นป่ารกทึบ และแล้วพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น และท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถรได้นำเอาแสงสว่างดวงประทีปธรรมของพระพุทธองค์ สองทางให้ได้เห็นหนทางแห่งการปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องดำเนินต่อไป”
หลวงปู่ใหญ่เสาร์ ได้เล่าให้ หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส ศิษย์อุปัฏฐากฟังว่า ทีแรก ชาวเมืองได้ขอให้หลวงปู่ใหญ่เป็นผู้บูรณะ แต่ท่านบอกว่า “เราไม่ใช่เจ้าของ เดี๋ยวเจ้าของผู้ซ่อมแซมจะมาทำเอง”
และเจ้าของ ที่หลวงปู่ใหญ่พูดไว้ก็คือ พระครูวิโรจน์รัตโนบล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านพระครูดีโลด นั่นเอง