พระธาตุแดนอีสาน ตำนานศักดิ์สิทธิ์
วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร บรรจุพระอุรังคธาตุ ( กระดูกส่วนพระอุระของสมเด็จพระสัมมนาพุทธเจ้า) เป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งแผ่นดินอีสานและสองฝั่งโขง
ปัจจุบันมี พระเทพวรมุนี เป็นเจ้าอาวาส
ประวัติพระธาตุพนม โดย กรมศิลปากร
ตามตำนานพระธาตุพนมกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมนี้สร้างครั้งแรกเมืองราว พ.ศ.๘ ขณะที่อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ กำลังเจริญรุ่งเรือง โดยเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง ๆ ทั้ง ๕ มีพญาศรีโคตรบูรณ์ เป็นต้น และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นประมุข เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระมหากัสสปเถระนำมาจากอินเดียประดิษฐานไว้ ข้างใน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตามตำนานจะกล่าวว่าพระธาตุพนมถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๘ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่าองค์พระธาตุพนมน่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๔ หลักฐานสำคัญที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ คือ ภาพสลักอิฐแบบโบราณที่ประดับอยู่บริเวณส่วนเรือนธาตุของ
พระธาตุพนมอันมีลักษณะรูปแบบคล้ายศิลปะทวารวดีแบบฝีมือของช่างพื้นเมือง
องค์พระธาตุพนมได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยของพระเจ้าโพธิศาลราช แห่ง
อาณาจักรล้านช้าง (ราว พ.ศ.๒๐๗๒-๒๑๐๓) พระองค์ได้เสด็จลงมาบูรณะและสถาปนาวัดพระธาตุพนมขึ้นเป็นพระอารามหลวงจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เกิดเป็นประเพณีที่ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างในสมัยต่อ ๆมาจะลงมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนมเป็นประจำแทบทุกพระองค์
การบูรณะครั้งสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ การบูรณะของท่านราชครูโพนสะเม็กจากเมืองเวียงจันทร์เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ โดยช่างจากนครเวียงจันทร์ ในการบูรณะครั้งนี้ทำให้พระธาตุพนมได้รับ
อิทธิพลรูปแบบส่วนยอดมาจากพระธาตุหลวงที่นครเวียงจันทร์ ซึ่งน่าจะเป็นการกำหนดรูปแบบที่แน่นอนขององค์พระธาตุพนมตั้งแต่นั้นมา และได้กลายเป็นแบบฉบับของงานก่อสร้างองค์พระธาตุในภาคอีสานตอนบน
การบูรณะปรากฏอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๔๔๔ พระอุมัชฌาย์ทา วิคบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี
พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เลา กับคณะ ได้ธุดงค์มาถึงวัดพระธาตุพนม จึงคิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์ จึง
ได้เชิญพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางการช่างมาซ่อม โดยได้ทำการกะเทาะปูนเก่าที่ชำรุดแล้วโบกใหม่ ทาสีประดับกระจก กระเบื้องเคลือบในที่บางแห่ง และลงรักปิดทองที่ยอด
การบูรณะที่สำคัญอีกครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรีและอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นดำเนินการ ในการบูรณะพระธาตุครั้งนี้ได้
ซ่อมแซมโดยเทคอนกรีตเสริมเหล็กจากส่วนเหนือฐานหรือพระธาตุชั้นที่ ๑ ขึ้นไปจนถึงยอดสุด แล้วต่อ
ยอดให้สูงขึ้นไปอีก ๑๐ เมตร และเพิ่มฉัตรทองคำเหนือยอดองค์พระธาตุ (เฉพาะฉัตรทองคำ ที่
ดำเนินการสร้างใหม่แทนฉัตรองค์เก่า สร้างแล้วเสร็จและนำไปประดิษฐานเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์
๒๔๙๗)
การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ที่สุด คือ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๙ ถึง เดือนมีนาคม ๒๕๒๒กรมศิลปากรได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมขึ้นใหม่ ภายหลังที่องค์พระธาตุพังทลายล้มทั้งองค์ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘
ที่มาข้อมูล กรมศิลปากร